วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คำเชื่อม

                                                            คำเชื่อม
    คำเชื่อม  คือคำหรือกลุ่มคำที่ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำ กลุ่มคำหรือประโยค ได้แก่

1. คำที่ทำหน้าที่เชื่อมความในประโยคให้สมบูรณ์ ตำแหน่งของคำจะอยู่หน้าคำนาม คำสรรพนาม หรือคำกริยา คำเชื่อมชนิดนี้คือ คำบุพบท เช่น ของ แห่ง เพื่อ ใน ที่ แก่ โดย เป็นต้น


ตัวอย่าง                 หนังสืออยู่บนโต๊ะ


                              สมุดเล่มนี้เป็นของสมชาย

2. คำที่ทำหน้าที่เชื่อมคำกับคำ ประโยคกับประโยค คำเชื่อมประเภทนี้คือ คำสันธาน จะปรากฏในประโยคความรวม มีทั้งที่เป็นคำคำเดียว เป็นกลุ่มคำ หรือเป็นคำที่ต้องใช้คู่กับคำอื่น เช่น และ แต่ เพราะ.....จึง หรือ หรือไม่ก็ มิฉะนั้น กว่า.....ก็ ทั้ง.....และ เนื่องจาก.....จึง เป็นต้น


ตัวอย่าง                 เนื่องจากฝนตกหนักน้ำจึงท่วมถนน


                              วันหยุดสุดสัปดาห์แม่ชอบไปซื้อของแต่พ่อชอบอ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน

3. คำที่ทำหน้าที่เชื่อมประโยคใหญ่กับประโยคย่อยเข้าด้วยกันกลายเป็นประโยคความซ้อนหนึ่งประโยค คำเชื่อมชนิดนี้คือ คำประพันธสรรพนาม ตำแหน่งของคำจะอยู่หน้าประโยคย่อยและอยู่หลังคำนามในประโยคใหญ่ นอกจากจะทำหน้าที่เชื่อมประโยคแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นประธานในประโยคย่อยด้วยได้แก่ ที่ ซึ่ง อัน


ตัวอย่าง                   นักเรียนที่สอบได้คะแนนสูงสุดจะได้รับรางวัล


                                (ประโยคใหญ่-นักเรียนจะได้รับรางวัล)


                               (ประโยคย่อย-นักเรียนสอบได้คะแนนสูงสุด)

4. คำที่ทำหน้าที่เชื่อมความในประโยคใหญ่กับประโยคย่อยเข้าด้วยกันกลายเป็นประโยคความซ้อนหนึ่งประโยค คำเชื่อมชนิดนี้คือ คำประพันธวิเศษณ์ ตำแหน่งของคำจะอยู่หน้าประโยคย่อยและอยู่หลังคำกริยา หรือคำวิเศษณ์ในประโยคใหญ่ นอกจากจะทำหน้าที่เชื่อมประโยคแล้ว ยังทำหน้าที่ขยายคำกริยา หรือคำวิเศษณ์ที่อยู่ข้างหน้าด้วยเช่น ว่า ที่ ซึ่ง อัน เพราะ จน ให้ เป็นต้น


ตัวอย่าง                 เขาลือกันว่าสมบูรณ์จะได้เป็นผู้อำนวยการ


                                 แม่บอกให้ลูกถูบ้าน


                                 น้อยเสียใจที่เป็นต้นเหตุของเรื่องวุ่นวายคราวนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น